ทราบหรือไม่ว่า? การปักเสาไฟฟ้า นั้นมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? แน่นอนว่าเมื่อเราซื้อเสาไฟฟ้าคอนกรีต และมองหาช่างรับปักเสาไฟฟ้ามืออาชีพให้ดำเนินการปักเสาไฟเราอาจจะไม่จำเป็นต้องทราบรายละเอียดมากนัก แต่ทว่าหากเรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนเหล่านี้ว่ามีวิธีการในการติดตั้งอย่างไรที่ถูกต้อง ปลอดภัย และมีวิธีการแบบไหนบ้างให้เป็นทางเลือกในการตัดสินใจ จะทำให้เราสามารถตรวจสอบขั้นตอนการปักเสาไฟฟ้าไปพร้อมๆกับช่างติดตั้งได้ และสามารถตัดสินใจเลือกรูปแบบการปักเสาไฟฟ้าได้โดยเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของวิธีการติดตั้ง รวมถึงสิ่งที่ต้องรู้ก่อนปักเสาไฟ ว่าต้องพิจารณาอะไรบ้าง
ปัจจัยที่ต้องพิจารณาก่อน “ปักเสาไฟฟ้า”
สำรวจพื้นที่ว่าต้องการความสว่างมากน้อยเพียงใด
สำรวจพื้นที่ต้นทางถึงปลายทาง เพื่อกำหนดระยะเสา
วางแผนจัดเตรียมอุปกรณ์ และกำลังคน ในการปักเสาไฟตามลักษณะพื้นที่หน้างาน เช่น หากพื้นที่แคบ รถไม่สามารถเข้าถึงได้ ต้องใช้แรงงานคนในการปักเสาไฟแทน เป็นต้น
การปักเสาไฟมีวิธีใดบ้าง?
การปักเสาไฟ มี 2 วิธี คือ การปักโดยใช้แรงงานคน และ ปักโดยใช้รถ ซึ่งจะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน จึงยังมีความจำเป็นที่ต้องใช้ทั้ง 2 วิธีนี้อยู่ ทั้งนี้ก่อนปักเสาไฟเราจึงต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น เพื่อที่จะเลือกว่าพื้นที่ของเรานั้น ควรปักเสาไฟด้วยวิธีใด จึงจะเหมาะสม
1. วิธีปักเสาไฟฟ้าด้วยแรงงานคน
การปักเสาไฟด้วยแรงงานคน มีความจำเป็นในกรณีที่เครื่องจักรไม่สามารถเข้าปฏิบัติงานได้ เช่น ถนนทางเข้าแคบ หรือ บนเกาะ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องใช้แรงงานคนในการปักเสาไฟเท่านั้น ส่วนข้อจำกัดคือ วิธีนี้จะดำเนินการได้ช้า ใช้แรงงานคนค่อนข้างมาก ใช้เวลาในการติดตั้งนานกว่าการใช้รถปัก
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
ไม้ขาทราย ใช้ในการพยุงและยกเสาให้สูงขึ้น ใช้ไม้ไผ่ 2 ท่อน ผูกเชือกปลายเสา
ไม้ขาหมุด ใช้งานคู่กับไม้ขาทราย เพื่อรับน้ำหนักเสาไฟฟ้าขณะที่ยกสูงขึ้นเรื่อยๆ
ไม้แพน เป็นไม้แผ่นสี่เหลี่ยมขนาดเท่าๆปากหลุม ใช้เสียบรอบๆหลุมกันดินหล่นลงไป
เชือก สำหรับผูกปลายเสาไม้ไผ่
รถขนย้ายเสาไฟ เป็นรถที่ทำจากล้อรถ 2 ล้อ ลักษณะคล้ายรถเข็น
วิธีการขุดหลุมด้วยแรงงานคน แบ่งเป็น 2 ประเภท
ขุดด้วยแรงงานคน โดยใช้อุปกรณ์ เช่น จอบ พลั่ว ชะแลง เป็นต้น วิธีนี้ใช้แรงงานคนน้อย หรือ ขุด 1 คนก็ได้เช่นกัน แต่จะใช้เวลานานเหมาะกับงานไม่เร่งรีบ
ขุดด้วยสว่านมือ วิธีนี้จะใช้คน 3 - 4 คน ในการจับสว่านหมุนขุดดินไปเรื่อยๆ
วิธีการปักเสาไฟโดยใช้แรงงานคน
วางไม้แพนลงในหลุม ให้อยู่ตรงข้ามกับเสาไฟฟ้า โดยให้เสาเอนทาบไปตามแนวหลุม
วางเสาลงไปในหลุม ให้โคนเสาติดกับไม้แพน
ยกปลายเสาให้สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้ไม้ขาทรายพยุงเสา ควบคู่กับไม้ขาหมุดรับน้ำหนักเสา
เมื่อโคนเสาไฟลงลึกถึงก้นหลุม ให้ใช้ไม้ขาทรายค้ำยันเสาไว้ เพื่อปรับเสาให้ตรง
เมื่อเสาตรงแล้ว ให้กลบดินฝังให้แน่น แล้วดึงไม้ค้ำยันออก
2. วิธีปักเสาไฟฟ้าโดยใช้รถ
เป็นวิธีที่ได้รับความนิยม เนื่องจากสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา ใช้เครนในการยกเสาไฟทำให้ประหยัดค่าจ้างแรงงาน ใช้คนน้อยกว่าแต่ต้องเป็นพื้นที่ที่รถและเครื่องจักรสามารถเข้าถึงหน้างานได้สะดวก
การขุดหลุมโดยใช้รถ
ข้อดีของการใช้รถขุดหลุม คือ สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา ส่วนข้อจำกัด คือ จะใช้วิธีนี้ได้เฉพาะพื้นที่ที่รถสามารถเข้าถึงได้เท่านั้น หน้างาน หรือ ซอยแคบอาจจะต้องใช้แรงงานคนแทน
วิธีการปักเสาไฟโดยใช้รถ
ใช้ส่วนปลายของสลิง เกี่ยวยึดกลางเสาไฟ แล้วเคลื่อนย้ายเสาเข้ามาใกล้หลุม
ย้ายส่วนปลายของสลิงจากกลางเสา มาเกี่ยวยึดที่ปลายเสา เพื่อถ่ายเทน้ำหนักมาอยู่โคนเสา
ใช้เครนยกเสาขึ้นเรื่อยๆ ให้เสาตั้งตรง ขั้นตอนนี้ใช้คนงานช่วยกันประคองเสาไม่ให้แกว่งไปมา
จากนั้นประคองเสาลงหลุมให้ได้ตำแหน่ง ใช้เหล็กกลมเสียบที่รูเสาไฟแล้วบิดเสาให้ได้ตำแหน่ง
เมื่อได้ตำแหน่งที่ต้องการ ทำการกลบหลุมเสาให้แน่น
สรุป
ก่อนทำการลงมือปักเสาไฟฟ้าทุกครั้ง ต้องไม่ลืมที่จะสำรวจพื้นที่หน้างานตนเอง เพื่อวางแผนจัดเตรียมอุปกรณ์และแรงงานคนให้ถูกต้องเหมาะสม หากพื้นที่นั้นรถสามารถเข้าถึงได้ง่าย การใช้รถในการปักเสาไฟก็เป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงจนเกินไป แต่หากพื้นที่เป็นทางแคบ รถเข้าไปไม่ได้ การปักเสาไฟด้วยแรงงานคนก็จะเป็นอีกทางเลือกที่จำเป็น หากต้องใช้วิธีนี้ต้องมีการเตรียมแรงงานคน ขุมหลุมให้เรียบร้อย พร้อมทั้งเตรียมอุปกรณ์ที่ต้องใช้ให้พร้อมเพื่อความสะดวกในการทำงาน