บ้านทรุด คืออะไร?
“บ้านทรุด” ถือเป็นปัญหาที่หนักที่สุดของคนมีบ้าน เคยสังเกตหรือไม่ว่าบ้านที่เราอาศัยอยู่เป็นระยะเวลานาน มักจะมีรอยร้าวเกิดขึ้นมีตั้งแต่รอยร้าวเล็กๆ ไปจนถึงรอยร้าวขนาดใหญ่ ซึ่งจุดเริ่มต้นเหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไข ก็อาจจะเกิดปัญหาบ้านทรุดหรือตึกถล่มลงมาได้ทั้งหลัง วันเอ็มคอนกรีต จึงได้รวบรวมสาเหตุของบ้านทรุด เพื่อให้ทราบถึงสัญญาณเตือนที่เกิดขึ้นก่อนจะเป็นปัญหาที่สายเกินแก้พร้อมแนวทางการป้องกัน
สัญญาณเตือนบ้านทรุด
เจ้าของบ้านควรหมั่นสังเกตบ้าน ที่อาจจะส่งสัญญาณเตือนตั้งแต่แรกเริ่ม เช่น รอยแยกของผนัง ผนังบ้านเอียง พื้นบ้านและพื้นส่วนที่ต่อเติมทรุด ระบบท่อน้ำเริ่มชำรุดจากการที่ดินทรุดตัว ประตูหน้าต่างเริ่มปิดเปิดได้ยาก และสัญญาณเตือนจากรอยร้าวของตัวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเสาบ้าน ผนัง หรือคาน ที่มีลักษณะร้าวหลายแบบ เช่น การร้าวแบบแตกลายงา, ร้าวแบบแนวดิ่งกลางคาน, ร้าวแบบแนวทแยง, รอยร้าวเฉียงตามมุมประตูหน้าต่าง
สัญญาณเตือนเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่บอกให้เราต้องรีบแก้ไข ไม่ควรปล่อยเอาไว้ หากเป็นรอยร้าวเล็กๆ เราสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง แต่หากเป็นรอยร้าวขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ควรรีบปรึกษาช่างที่มีความชำนาญมาช่วยแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด
สาเหตุของบ้านทรุด
1. ปัญหาระบบฐานราก
เกี่ยวกับระบบฐานรากของบ้าน ที่ต้องมีการสำรวจว่าควรใช้ฐานรากแบบแผ่ หรือต้องตอกเสาเข็ม ที่ต้องมีการสำรวจลักษณะดินหน้างานก่อนทุกครั้ง รวมไปถึงเสาเข็มที่ใช้ตอก ที่ปกติแล้วต้องให้วิศวกรเป็นผู้กำหนดให้ทั้งหมด
แต่หากเจ้าของบ้านเลือกใช้เองโดยเลือกใช้เสาเข็มที่สั้นกว่าที่กำหนด ความยาวเสาเข็มที่สั้นไม่ลงลึกถึงชั้นดินดาน และตำแหน่งเสาเข็มไม่ตรง ปัญหาเสาเข็มเกิดการแตกหักจากเสาเข็มที่ไม่ได้คุณภาพ ปัญหาเหล่านี้ทำให้การทำฐานรากไม่เป็นไปตามกำหนด จะส่งผลให้เสาเข็มไม่สามารถรับน้ำหนักโครงสร้างและส่งน้ำหนักลงสู่ชั้นดินดานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาตัวบ้านทรุดพังได้
2. ปัญหาจากการต่อเติมบ้าน
มักจะเกิดจากบ้านที่อาศัยมานานและต้องการต่อเติมโครงสร้างใหม่ เช่น ทำโรงจอดรถ ต่อเติมห้องครัว ยึดติดกับโครงสร้างเดิมโดยขาดความรู้ เจ้าของบ้านมักจะคิดว่าไม่จำเป็นต้องตอกเสาเข็มส่วนต่อเติมให้ยาวเท่ากับตัวบ้าน เนื่องจากส่วนใหญ่ตัวบ้านมักจะมีพื้นที่จำกัด อย่างเช่น เป็นโครงการหมู่บ้านต่างๆ การตอกเสาเข็มอาจจะไม่สะดวก และยังมีงบประมาณที่สูง
เมื่อต่อเติมบ้านโดยไม่ลงเสาเข็ม หรือใช้เสาเข็มที่สั้นกว่าจึงทำให้เกิดปัญหาบ้านทรุด โดยส่วนต่อเติมที่ลงเสาเข็มสั้นนั้นจะทรุดตัวลงเรื่อยๆ และส่งผลให้ตัวบ้านเดิมทรุดตามลงไปด้วย เมื่อเกิดปัญหานี้แล้วแนวทางการแก้ปัญหายุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก หรือต้องทำใจด้วยการทุบทิ้งและสร้างใหม่เท่านั้น
แนวทางการป้องกัน
การสร้างบ้าน หรือโครงสร้างอาคารใดๆก็ตามควรให้วิศวกรเป็นผู้กำหนดรูปแบบฐานรากให้เหมาะสมจึงจะดีที่สุด เพราะฐานรากที่ดีส่งผลกับโครงสร้างของบ้านในอนาคตอย่างมาก
การต่อเติมบ้านจำเป็นต้องลงเสาเข็มให้ยาวเท่ากับเสาเดิม หากมีพื้นที่จำกัดหน้างานแคบ สามารถเลือกใช้ เสาเข็มไมโครไพล์ ซึ่งมีข้อดีคือไม่กระทบกับโครงสร้างเดิม เสียงและแรงสั่นสะเทือนน้อยกว่าเสาเข็มแบบอื่น ใช้งานได้ในที่แคบ อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง แต่คุ้มค่าในระยะยาว อีกทั้งยังมีวิศวกรในการควบคุมการตอกเสาเข็มให้สามารถมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยได้มากขึ้น